แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า NAP (National Action Plan on Business and Human Rights) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เป็นกรอบนโยบายระดับชาติที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานให้กับภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและชุมชนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลจากการประกอบธุรกิจ ป้องกัน บรรเทา หรือแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบเชิงลบอันเกิดจากการประกอบธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยมุ่งหวังให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ประกอบด้วย 4 แผน ได้แก่
- แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน
- แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
- แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
- แผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ
กลไกการกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฉบับนี้ จะดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะเป็นผู้รวบรวมและจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 2 ระยะ คือ ระยะครึ่งรอบ (ระหว่าง พ.ศ. 2566 – 2568) และระยะเต็มรอบ (ระหว่าง พ.ศ. 2566 – 2570) เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาและเผยแพร่ต่อไป
อ่านรายละเอียด (คลิ๊ก) แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570)