ประเด็นร้อน “รองเท้าหรู”
สู่การเรียนรู้ “นโยบาย No Gift Policy”
และ “การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา”
จากประเด็นข่าวข้าราชการการเมือง มีการรับรองเท้าหรูมูลค่า 60,000 บาท กลายเป็นกรณีศึกษาที่เจ้าพนักงานของรัฐต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และตระหนักถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ รวมทั้งการประกาศนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่
นโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่
แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) กำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่สำคัญ กิจกรรมการพัฒนาระบบราชการไทยโปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัล
ทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)
กพร. จึงประกาศให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)
Link : ประกาศ กพร. เรื่อง นโยบายไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)
http://www.dpim.go.th/Policy_Planning_and_Budget/article?catid=384&articleid=14203
Link : แบบรายงานการรับของขวัญและของกำนัลตามนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่
“ชาว กพร. พร้อมใจร่วมสร้าง กพร. เป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่รับของขวัญของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)”
การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา
อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับหรือมีการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมาแล้ว …
รับได้หรือไม่ ? รับมาแล้วต้องทำอย่างไร ?
มาตรา 128 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) กำหนด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงออกประกาศหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ กำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ ดังนี้
- การรับจากผู้ใดซึ่งมิใช่ญาติที่มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท
- การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป
การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือมีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ต้องดำเนินการดังนี้
- ต้องแจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นต่อหัวหน้าส่วนราชการ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับสิ่งนั้นไว้
- หัวหน้าส่วนราชการ วินิจฉัยและมีคำสั่งว่า ให้รับได้ หรือไม่สมควรรับ ก็ให้คืนทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ให้ทันที ในกรณีที่ไม่สามารถคืนให้ได้ ให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าวให้เป็นสิทธิของหน่วยงานโดยเร็ว
ทั้งนี้ มาตรา 169 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดบทลงโทษเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 128 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
Link : ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/020/T_0017.PDF
Link : พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/052/1.PDF