เรื่อง การประกอบการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
องค์ความรู้
สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต ๕ พิษณุโลก จัดกิจกรรมโครงการจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) เพื่อพัฒนาองค์การ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เรื่อง การประกอบการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 นายนันทวุธ หิมะมาน ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 5 พิษณุโลก ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ ศึกษาดูงาน พร้อมบรรยายถ่ายทอดความรู้การประกอบการเหมืองแร่ทองคำในส่วนการการทำเหมืองแร่ การประกอบโลหกรรม และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ณ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์
บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้กลับมาประกอบกิจการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 สืบเนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ลงวัน 13 ธันวาคม 2559 ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ไปจนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น และคณะกรรมการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (ครน.) มีมติเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการอุตสาหกรรมแร่ทองคำภายใต้กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการนโยบายแร่ทองคำ โดยให้ผู้มีอำนาจในการพิจารณาคำขออาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ สามารถพิจารณาตามขั้นตอน การขออนุญาตได้ ปัจจุบันบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีประทานบัตร จำนวน 13 แปลง มีพื้นที่ 3,462 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา มีคำขออาชญาบัตรพิเศษ จำนวน 17 แปลง มีพื้นที่ 145,369 ไร่ มีใบอนุญาตสถานที่เก็บน้ำขุ่นข้นและมูลดินทราย 7 ใบ มีใบอนุญาตประกอบโลหหกรรม จำนวน 1 ใบ
ในส่วนการทำเหมืองแร่ทองคำ จะใช้วิธีการทำเหมืองเปิด (Open pit mine) โดยมีการ ทำเหมืองที่บ่อเหมือง A ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของของพื้นที่โครงการฯ ประกอบด้วยประทานบัตรที่ 32532/15812 26917/15804 25528/14714 32531/15811 และ 32530/15810 การทำเหมืองจะเริ่มจากการพัฒนาเส้นทางลำเลียงสินแร่และพื้นที่เก็บกองมูลหิน จากนั้นจะขุดหน้าดิน ไปเก็บกองไว้ใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้วจึงเริ่มทำการผลิต ขั้นตอนการผลิตจะใช้วิธีการ เจาะระเบิดเพื่อแยกสินแร่และหินออกจากกัน โดยจะมีการผลิตสินแร่ปีละประมาณ 5 ล้านเมตริกตัน เพื่อใช้ป้อนโรงประกอบโลหกรรม
บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีโรงประกอบโลหกรรมตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพื้นที่โครงการฯ การประกอบโลหกรรมเริ่มจากการนำสินแร่ที่ได้จากบ่อเหมืองมากองไว้บนลานกองสินแร่ (ROM Pad) จากนั้นใช้รถตักล้อยางตักสินแร่เข้ายุ้งเพื่อบดหยาบและลำเลียงต่อด้วยสายพาน พร้อมเติมปูนขาวเพื่อปรับค่า pH เข้าสู่ขั้นตอนการบดละเอียดด้วย SAG MILL และ Ball MILL เพื่อให้ได้ขนาด 75 ไมครอน และนำเข้าสู่ขบวนการชะละลายดูดซับโลหะด้วยเม็ดถ่านกัมมันต์ (Carbon In Leach ; CIL) สินแร่ทองคำและเงินจะถูกละลายด้วยสารละลายโซเดียมไซยาไนด์ โดยความเข้มข้นของสารละลายโซเดียมไซยาไนด์ในรูปอิสระ (CN) จะถูกรักษาอยู่ในช่วง 120 – 130 ส่วนในล้านส่วน และใช้ถ่านกัมมันต์ดูดซับโลหะออกจากสินแร่ จากนั้นนำถ่านกัมมันต์เข้าสู่กระบวนการดึงโลหะทองคำออกจากเม็ดถ่านกัมมันต์ (Elution) กระบวนการ แยกโลหะด้วยเซลล์ไฟฟ้า และหลอมโลหะ (Electrowinning and Smelting) ตามลำดับ
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูพื้นที่จากการทำเหมืองแร่ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีการจัดตั้งกองทุน จำนวน 4 กองทุน ตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ได้แก่ กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนประกันความเสี่ยง กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่และกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ โดยมียอดเงินคงเหลือรวมดอกผล ที่ได้รับ ดังนี้
– กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ จำนวน 59,366,433.12 บาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567
– กองทุนประกันความเสี่ยงฯ จำนวนเงิน 18,360,141.67 บาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567
– กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ จำนวนเงิน 18,330,456.17 บาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 – กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ จำนวนเงิน 15,167,216.77 บาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567