“เรื่อง เทคโนโลยีรีไซเคิลขยะเป็นทอง และนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าแร่ โลหะ”
องค์ความรู้
เทคโนโลยีการผลิตซีโอไลต์ (Zeolite) สำหรับการผลิตทรายแมว และเทคโนโลยีการผลิตยิปซัม (Gypsum) คุณภาพสูงจากแหล่งแร่ในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร
1. เทคโนโลยีการผลิตซีโอไลต์ (Zeolite) สำหรับการผลิตทรายแมว การพัฒนาและสังเคราะห์ซีโอไลต์ (Zeolite) จากหินพอตเทอรี
การทดลองการผลิตซีโอไลต์จากหินพอตเทอรี จะเริ่มจากการบดผสมผงหินพอตเทอรี 4-6 ส่วน ต่อผงโซดาไฟ 5 ส่วน และเผาที่ 600-800 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1-4 ชั่วโมง และนำผงหลังเผา 50 กรัม มาต้มในน้ำ 200 มิลลิลิตร ที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในภาชนะปิด หลังจากนั้นนำมากรอกและล้างด้วยน้ำจนมีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ต่ำกว่า 9 ก่อนนำผงตะกอนไปอบแห้ง จากนั้นจึงนำ ซีโอไลต์ที่ได้จากหินพอตเทอรีมาทำการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทรายแมว โดยนำผสมผงซีโอไลต์ ผงสารดูดน้ำ เช่น เพอร์ไลต์ ผงตัวเชื่อมประสาน เช่น ดินเบนทอไนต์ มาผสมตามอัตราส่วนที่เหมาะสม นำส่วนผสมไปปั้นเป็นเม็ดขนาดต่าง ๆ ตามต้องการ ด้วยเครื่องมือปั้นเม็ด เช่น เครื่องผลิตปุ๋ยหรืออาหารเม็ด จึงค่อยนำไปอบแห้ง
2. เทคโนโลยีการผลิตยิปซัม (Gypsum) คุณภาพสูงจากแหล่งแร่ในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร
จากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในปี 2565 ประเทศไทยมีการผลิตยิปซัม 8.3 ล้านตัน โดยจากการสำรวจเก็บตัวอย่างแร่ยิปซัมและแอนไฮไดรต์จากเหมืองแร่ในประเทศ อาทิ แหล่งแร่ภาคกลาง (นครสวรรค์ และพิจิตร) แหล่งแร่ภาคใต้ (นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี) พบว่าในเหมืองแร่ยังคงมีแร่ยิปซัมคุณภาพสูงที่ผ่านเกณฑ์องค์ประกอบเคมี ความบริสุทธิ์ และความขาวสว่างที่สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางได้ ซึ่งมีค่าความเข้มข้นของยิปซัมหรือแคลเซียมซัลเฟต ความบริสุทธิ์ผ่านเกณฑ์ ปริมาณสารเจือปนและโลหะหนัก และสมบัติอื่น ๆ ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนด European Commission (EU E516) และ The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA) อาทิ การนำไปใช้ผลิตเป็น “ผงเจี๊ยะกอ” หรือ “เกลือจืด” สำหรับเป็นสารทำให้น้ำถั่วเหลืองจับตัวเป็นก้อน “เต้าหู้อ่อน” สารปรับปรุงสภาพน้ำในอุตสาหกรรมผลิตเบียร์ วัตถุเจือปนในอาหาร INS 516 สารดูดความชื้นเกรดสำหรับบรรจุภัณฑ์ในอาหาร ผงสครับขัดผิวในโฟมล้างหน้า ซึ่งยิปซัมคุณภาพสูงนี้มีความปลอดภัยทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
หัวข้อเรื่อง เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว
องค์ประกอบของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่นำไปเผา
เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำโลหะ/สารประกอบโลหะในแบตเตอรี่กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ รวมถึงเป็นวัตถุดิบทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย การรีไซเคิลแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วสามารถทำได้โดยใช้กระบวนการคัดแยก
ทางกายภาพเพื่อแยกผงอิเล็กโทรด (Electrode Powder) ออกจากส่วนประกอบอื่น ๆ จากนั้นนำไปเข้าสู่กระบวนโลหวิทยาสารละลาย โดยมีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้ กระบวนการชะละลายด้วยสารละลายกรดซัลฟิวริก กระบวนการตกตะกอนเพื่อกำจัดมลทิน กระบวนการตกตะกอนนิกเกิลโคบอลต์แมงกานีสออกซาเลทไดไฮเดรต (Co-Ni-Mn Oxalate Dihydrate) ออกจากสารละลาย กระบวนการตกตะกอนแมงกานีสคาร์บอเนต (MnCO3) ออกจากสารละลาย กระบวนการตกตะกอนเพื่อกำจัดมลทินครั้งที่ 2 ก่อนกระบวนการตะตะกอนลิเทียม และกระบวนการตกตะกอนลิเทียมคาร์บอเนต (Li2CO3) โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นลิเทียมคาร์บอเนต (Li2CO3) ที่มีความบริสุทธิ์ประมาณร้อยละ 99.52 โดยน้ำหนัก สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน