ต.ค. 08

กพร. นำทีมภาครัฐพร้อมผู้ประกอบการศึกษาดูงานโรงงานต้นแบบ

กพร. นำทีมภาครัฐพร้อมผู้ประกอบการศึกษาดูงานโรงงานต้นแบบ ณ เมืองเบรชชา สาธารณรัฐอิตาลี

          เมื่อวันที่ 23-26 กันยายน 2562 นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นำทีมคณะกรรมการกำกับการดำเนินโครงการ (Project Steering Committee: PSC) และหน่วยงานภาคเอกชนที่ร่วมโครงการ Greening the Scrap Metal Value Chain through Promotion of BAT/BEP to Reduce U-POPs Releases from Recycling Facilities ศึกษาดูงานสถานประกอบการชั้นนำด้านเทคโนโลยีการผลิตและสิ่งแวดล้อม ณ เมืองเบรชชา สาธารณรัฐอิตาลี โดยได้เข้าหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งเมืองเบรชชา (Associazione Industriale Bresciana, AIB) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ รวมถึงเยี่ยมชมสถานประกอบการหล่อหลอมโลหะที่นำแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Technique: BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practice: BEP) มาใช้เพื่อลดมลภาวะทางอากาศจากโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษที่ตกค้างยาวนานซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่จงใจ หรือ U-POPs (Unintended Persistent Organic Pollutants) เช่น สารไดออกซิน และฟิวแรน

          พร้อมกันนี้ ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตเหล็กของ บริษัท ORI Martin บริษัท Feralpi Siderurgica และบริษัท Alfa Acciai ซึ่งเป็นโรงงานที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยนำความร้อนในการผลิตเหล็กกลับมาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า (Heat recovery) จากนั้นเข้าเยี่ยมชม บริษัท Raffmetal โรงงานผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดของยุโรปที่มีกระบวนการผลิตอันทันสมัย และนำของเสียจากการผลิตกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท A2A Ambiente ที่มีการนำขยะหรือของเสียจากครัวเรือนซึ่งไม่สามารถรีไซเคิลได้มาผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน และปิดท้ายที่ บริษัท Agroittica ผู้ผลิตไข่ปลาคาเวียร์รายใหญ่ของประเทศอิตาลี ที่นำเอาความร้อนเหลือทิ้งจากโรงงานหลอมเหล็กบริเวณใกล้เคียงมาใช้ปรับอุณหภูมิน้ำในการเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน

          การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความรู้ด้านเทคโนโลยีในการผลิตและบำบัดมลพิษที่ได้รับจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการในการเสนอแนะนโยบายในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและเสนอแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถประยุกต์ใช้แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BAT/BEP) เพื่อลดการปลดปล่อย U-POPs ในอุตสาหกรรมหล่อหลอมโลหะได้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ

 

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published.