กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดงานสัมมนาประจำปี Innovation in Raw Materials Conference 2020: The Implementation of Circular Economy ในวันที่ 9 กันยายน 2563 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวเครื่องคัดแยกโลหะจากซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมเป็นต้นแบบให้ภาคอุตสาหกรรมนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เดินหน้าสู่สังคมไร้ขยะ (Zero Waste Society) อย่างเต็มรูปแบบ
วันนี้ (9 กันยายน 2563) นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ Innovation in Raw Materials Conference 2020: The Implementation of Circular Economy ของ กพร. ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการผลักดันขยะหรือของเสียให้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเดินหน้าเข้าสู่สังคมไร้ขยะ (Zero Waste Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของ กพร. ภายใต้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบของกระทรวงอุตสาหกรรม ในปีนี้ ได้ต่อยอดผลงานเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแต่งแร่ ด้วยการออกแบบและพัฒนา เครื่องคัดแยกทางกายภาพหรือทางกล (Particle Separation Machine) เพื่อบดย่อยและคัดแยกส่วนประกอบต่าง ๆ จากซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลในขั้นตอนต่อไป ซึ่งเครื่องคัดแยกนี้นับเป็นเครื่องจักรต้นแบบสมัยใหม่เครื่องแรกในประเทศไทย โดยสามารถแยกส่วนประกอบต่าง ๆ ในซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มโลหะที่ไม่ติดแม่เหล็ก (เช่น ทองแดง ดีบุก ทองคำ เงิน อะลูมิเนียม) กลุ่มโลหะที่ติดแม่เหล็ก (ได้แก่ เหล็ก และนิกเกิล) และส่วนประกอบที่ไม่ใช่โลหะ (เช่น Epoxy Resin, Fiberglass) ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดนี้สามารถนำกลับมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ได้ใหม่ จากความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของ กพร. สามารถรองรับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์” ของประเทศได้
“ในยุคดิจิทัล ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นทุกปี และกำลังเป็นปัญหาของประเทศ ดังนั้นการพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบที่มีประสิทธิภาพ และสร้างระบบรีไซเคิลได้อย่างครบวงจร จะช่วยยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศไทย ทำให้ไม่จำเป็นต้องส่งวัตถุดิบที่มีค่าออกไปรีไซเคิลในต่างประเทศ จากการประเมิน พบว่า การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศประมาณ 500,000 ตันต่อปี โดยเปลี่ยนเป็นทรัพยากรที่มีค่าเพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทย จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี และหากเราสามารถจัดการขยะหรือของเสียอื่น ๆ ทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศกว่า 50 ล้านตันต่อปี ได้อย่างเป็นระบบ โดยมองว่าขยะหรือของเสียเหล่านั้น คือ ทรัพยากร ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เราจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ได้จากการหมุนเวียนขยะหรือของเสียกลับมาเป็นวัตถุดิบทดแทนได้กว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี อันจะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งผมได้ให้ความสำคัญเสมอมาในการสร้างสมดุลระหว่าง 3 สิ่ง คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม” นายกอบชัย กล่าว
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องคัดแยกนี้สามารถรองรับการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีรีไซเคิลตามหลักวิชาการ อีกทั้งทำให้ประเทศไทยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพและครบวงจรทัดเทียมนานาประเทศ โดยที่ผ่านมาได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ที่สนใจ เฉลี่ยปีละกว่า 300 ราย สามารถยกระดับผู้ประกอบการ (Level up) และสร้างธุรกิจใหม่ (Startup) ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการลงทุนหรือการใช้ประโยชน์จากของเสียที่ได้รับการผลักดันงานวิจัยและพัฒนาโดยศูนย์แห่งนี้ 150-200 ล้านบาทต่อปี ไม่นับรวมมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนขยะหรือของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นการลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่สังคมไร้ขยะ (Zero Waste Society) และมุ่งสู่ Circular Economy ตามนโยบายรัฐบาล
สำหรับงานสัมมนาวิชาการ Innovation in Raw Materials Conference 2020: The Implementation of Circular Economy จัดโดยกองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กพร. มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการดำเนินงานของภาครัฐในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำหลักการ Circular Economy ไปประยุกต์ใช้ในองค์กร สร้างรากฐานแห่งการพัฒนาด้านนวัตกรรมวัตถุดิบอย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการแนะนำและเปิดตัวเครื่องต้นแบบในการคัดแยกโลหะจากซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมการบรรยาย เรื่อง “การขับเคลื่อน Circular Economy สู่ภาคอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม” ผ่านผู้แทนจากภาครัฐ ตลอดจนขยายผลเทคโนโลยีต้นแบบที่ กพร. พัฒนาขึ้น สู่การนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยนำเสนอนวัตกรรมและผลงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบแร่ โลหะ และรีไซเคิล ผ่านการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การต่อยอดงานวิจัย สู่นวัตกรรม Circular Economy และ Circular Economy Measurement: การประเมินเพื่อยกระดับการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจจากอุตสาหกรรมแร่ อุตสาหกรรมโลหการ อุตสาหกรรมรีไซเคิล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ โดยผู้ที่สนใจสามารถดูเอกสารประกอบการสัมมนาหรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www5.dpim.go.th
ที่มา : http://www.dpim.go.th/purchase/article…
เอกสารประกอบการสัมมนา ⇒ ดาวน์โหลด : กำหนดการ ⇒ ดาวน์โหลด :