ก.ย. 19

งานแถลงผลการดำเนินโครงการด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรม

กพร. และบริษัท เบอร์กโซ เมตัลส์ จำกัด ดำเนินโครงการเปลี่ยนขยะอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบทดแทนมูลค่ากว่า 250 ล้านบาท

          วันนี้ (18 กันยายน 2562) นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานแถลงผลการดำเนินโครงการด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมว่า กพร. และ บริษัท เบอร์กโซ่ เมตัลส์ จำกัด ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรม ว่าด้วยเรื่องความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการนำของเสียในกระบวนการผลิตโลหะตะกั่วกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดย บริษัท เบอร์กโซ่ฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและการถ่ายทอดองค์ความรู้
ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบ ซึ่งนับเป็นภารกิจที่ กพร. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การต่อยอดผลงานวิจัยร่วมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์
          นายโกวเซิ่ง หลี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบอร์กโซ่ เมตัลส์ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัท เบอร์กโซ่ฯ ประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการตะกรันที่เกิดจากการหลอมถลุงตะกั่วจากเศษแบตเตอรี่เก่า ซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตโลหะตะกั่วที่ต้องส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ และมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดปีละหลายล้านบาท จึงมีแนวคิดนำของเสียเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ สอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยของ กพร. ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ตะกรันจากการหลอมถลุงตะกั่วที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเหล็กออกไซด์มาผลิตเป็นเหล็กถลุง จึงสนใจทำโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ กพร.
          จากการศึกษาพบว่า มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการเพิ่มมูลค่าของเสียจากกระบวนการผลิตโลหะตะกั่ว โดยการนำตะกรันจากการหลอมถลุงตะกั่วที่มีองค์ประกอบของเหล็กออกไซด์เป็นวัตถุดิบร่วมกับแร่ควอตซ์ที่มีองค์ประกอบของซิลิกอนไดออกไซด์ เพื่อผลิตเป็นเฟอร์โรซิลิกอน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า รวมถึงอุตสาหกรรมการหล่อโลหะต่าง ๆ โดยปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าเฟอร์โรซิลิกอนจากต่างประเทศ ผนวกกับมีแร่ควอตซ์คุณภาพปานกลางจำนวนมาก ที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มมูลค่า จึงนำวัตถุดิบทั้งสองมาใช้ร่วมกันในการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้
          สำหรับการดำเนินโครงการวิจัยในครั้งนี้ กพร. อาศัยบุคลากร และเครื่องจักรอุปกรณ์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินการพัฒนากระบวนการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบ เพื่อทดลองหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ ผลการทดลองพบว่า สามารถนำตะกรันจากการผลิตตะกั่วและแร่ควอตซ์คุณภาพปานกลางมาผลิตเฟอร์โรซิลิกอนที่มีคุณภาพดีระดับที่ใช้ในอุตสาหกรรมได้ และมีความเป็นไปได้สำหรับการผลิตในเชิงพาณิชย์ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่แหล่งแร่ภายในประเทศ รวมถึงของเสียจากภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลหการ ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าโดยรวมให้กับของเสียจากกระบวนการผลิตโลหะตะกั่วของประเทศไทยที่เกิดขึ้นปีละประมาณ 13,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 250 ล้านบาทต่อปี
          “ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการนำของเสียในกระบวนการผลิตโลหะตะกั่วกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน เป็นไปตามแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นความสำเร็จในการทำงานร่วมกันระหว่าง กพร. กับ บริษัท เบอร์กโซ่ฯ และพัฒนาไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นต้นแบบในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นในโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลในวงกว้างต่อไปได้” นายนิรันดร์ กล่าวทิ้งท้าย

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published.